ยา

การใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน

      การใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลนกับการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (AORTIC ANEURYSM) และโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (AORTIC DISSECTION)

      ยากลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน (Fluoroquinolone) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันในโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ โดยมีรายงานการเกิดอาการข้างเคียง ได้แก่ การเกิดความผิดปกติของเส้นเอ็น รวมทั้งทำให้เกิดเอ็นร้อยหวายฉีกขาด (Achilles tendon rupture) และเอ็นกล้ามเนื้อบาดเจ็บ (tendinopathy) ซึ่งความเสี่ยงในการเกิดอาการข้างเคียงเหล่านี้พบสูงสุดในช่วง 15 ถึง 30 วันแรกหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาในกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน กลไกการเกิดเส้นเอ็นกล้ามเนื้อบาดเจ็บเกิดจากยากระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ชื่อว่า เมทริกซ์เมทัลโลโปรตีนเนส (matrix metalloproteinases) ทำให้ลดการสร้างคอลลาเจน และกระตุ้นการเกิดอนุมูลอิสระในเซลล์เอ็นกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการสลายของคอลลาเจน

ยาในกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน

      มีรายงานการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (aortic aneurysm) และหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (aortic dissection) โดยจากการศึกษาของ Pasternak B. และคณะที่ประเทศสวีเดน ปี พ.ศ. 2561 ในผู้ป่วยอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี จำนวน 720,176 ราย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549 ถึง เดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลการสั่งใช้ยาฟลูโอโรควิโนโลน จำนวน 360,088 ราย และยาอะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) จำนวน 360,088 ราย ในช่วง 60 วัน ก่อนได้รับการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดเป็นครั้งแรกในโรงพยาบาล และข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิต พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการสั่งใช้ยาในกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลนชนิดรับประทาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) รองลงมาคือนอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin) ที่เหลือเป็นยาในกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลนชนิดอื่น ๆ มีอุบัติการณ์เกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หรือโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด 1.2 คนต่อพันคนต่อปี หรือกล่าวคือหากมีผู้ได้รับยาในกลุ่มฟลูโอโรคลิโนโลนชนิดรับประทานจำนวน 1 ล้านคน จะเกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หรือโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดจำนวน 82 คน ใน 60 วันหลังได้รับการรักษา 

      เมื่อเปรียบเทียบกับยาอะม็อกซีซิลลินพบว่ายาในกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดคิดเป็นร้อยละ 66 ภายใน 60 วันหลังจากเริ่มการรักษา โดยส่วนใหญ่จะเกิดหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องท้องมากที่สุด และความเสี่ยงจะเกิดสูงสุดในช่วง 10 วันแรกหลังการได้รับการรักษา ซึ่งการศึกษาของ Pasternak B. และคณะ ให้ผลการศึกษาสอดคล้องกับการศึกษาในประเทศแคนาดา และประเทศไต้หวัน 

      จากการศึกษาข้างต้นที่กล่าวมา แม้ว่าการใช้ยาในกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน จะมีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด แต่ความเสี่ยงที่พบยังไม่สูงมากนัก ดังนั้นผู้ที่ได้รับยาในกลุ่มนี้ควรสังเกตและเฝ้าระวังอาการของโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด เช่น ปวดบริเวณหลังหรือหน้าอกรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อได้รับยาเป็นเวลานาน และควรรีบไปพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติ

 

 

ผลงงานโดย

ภก.กฤติน บัณฑิตานุกูล

ภญ. สุธิดา จันทร์เจนจบ

 

    สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย

    ในพระบรมราชูปถัมภ์

    ที่อยู่ : ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี

    ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กทม. 10310

    E-mail : [email protected]

 

100256
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All_Days
228
432
7120
4339
4163
79036
100256

Your IP: 108.162.216.47
2024-05-05 13:42
  • สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ ขอส่งความห่วงใยผ่าน น้องขวัญใจ น้องพอใจ และน้องสุขใจ ขอให้ทุกคนรอดพ้นจาก COVID-19