หัวใจเต้นผิดจังหวะ
กาแฟกับการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- รายละเอียด
- จำนวนเข้าชม: 5888
ปัจจุบันกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่นิยมใช้กันอย่างมากในคนทั่วไปตั้งแต่ในนักเรียนไปจนถึงคนวัยทำงานตลอดจนผู้สูงอายุ บางท่านอาจดื่มกาแฟเป็นครั้งคราว แต่บางท่านต้องดื่มกาแฟเป็นประจำทุกวัน โดยที่หลายคนอาจไม่ทราบว่าการดื่มกาแฟเป็นประจำไปนานๆ จะมีผลดีหรือผลเสียต่อสุขภาพร่างกายอย่างไรบ้าง
กาแฟจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีสารประกอบหลายชนิดด้วยกัน แต่ชนิดที่เราได้ยินคุ้นเคยกันก็คือ คาเฟอีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในกาแฟ โดยที่กาแฟแต่ละชนิดจะมีปริมาณของคาเฟอีนไม่เท่ากัน โดยทั่วไปกาแฟ 1 ถ้วย (8 ออนซ์หรือ 240 ซีซี) จะมีปริมาณคาเฟอีน 95-200 มิลลิกรัม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหากท่านดื่มกาแฟต่างชนิดกันก็อาจได้รับปริมาณคาเฟอีนที่แตกต่างกันด้วย
สำหรับผลของกาแฟมีส่วนสัมพันธ์กับการทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้นหรือไม่นั้น ปัจจุบันยังมีข้อมูลไม่ชัดเจน ในระยะแรกเคยมีการศึกษาทดลองผลของกาแฟในสัตว์พบว่ากาแฟทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะในสุนัข ต่อมาได้มีการศึกษาในมนุษย์หลายการศึกษาซึ่งมีทั้งการศึกษาที่กาแฟเพิ่มการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะและลดการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อมีการศึกษาผลของคาเฟอีน (เป็นส่วนหนึ่งในกาแฟ) ในมนุษย์แบบสุ่มเทียบกับยาหลอกก็พบว่าคาเฟอีนไม่ได้เพิ่มการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ หลังจากนั้นก็มีการศึกษาแบบสังเกตการณ์ขนาดใหญ่หลายการศึกษาในคนที่ดื่มกาแฟ (ไม่เฉพาะคาเฟอีน) ก็พบว่ากาแฟกลับไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลที่แสดงว่ากาแฟเพิ่มการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่กาแฟก็ยังมีผลอย่างอื่นตามมาได้ เช่น มือสั่น ใจสั่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล เป็นต้น ดังนั้นการจะดื่มกาแฟเป็นประจำหรือไม่คงต้องคำนึงผลเสียเหล่านี้ต่อร่างกายร่วมด้วย
เอกสารอ้างอิง
James H. O’Keefe, Salman K. Bhatti,Harshal R. Patil, James J. DiNicolantonio, Sean C. Lucan, Carl J. Lavie. Effects of Habitual Coffee Consumption on Cardiometabolic Disease, Cardiovascular Health, and All-Cause Mortality. J Am Coll Cardiol 2013; 62:1043–51.
ข้อมูลโดย
นายแพทย์คมสิงห์ เมธาวีกุล
หน่วยสรีระไฟฟ้าหัวใจ
กลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ สถาบันโรคทรวงอก