อื่น ๆ
สู่เส้นทางพบหมอโรคหัวใจ ตอน (1) เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน..เรียกใช้ 1669
- รายละเอียด
- จำนวนเข้าชม: 3462
นำประเด็น ‘เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน’ กับ ‘เรียกใช้ 1669’ มาจับคู่กัน ถือเป็นปฐมบทของการเล่าความเป็นมาสู่เส้นทางผู้ป่วยตั้งแต่มาโรงพยาบาลจนกระทั่งพบแพทย์โรคหัวใจ เพื่อชี้ให้เห็นภัยจากภาวะเจ็บหน้าอกเฉียบพลันนี้ ซึ่งหากเดินทางด้วยตนเองอาจล่าช้า เสี่ยงต่อการเสียชีวิตกระทันหันได้ง่าย จึงจำเป็นต้องใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินแทน มาดูกันครับ
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
โรคนี้ฝรั่งเรียก Heart attack เกิดจากการฉีกขาดตรงปื้นไขมันภายในผนังหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจแล้วมีก้อนเลือดมาอุดตันบริเวณนั้น หากไม่รีบเปิดหลอดเลือดนี้จะทำให้หัวใจตรงนั้นตาย หยุดบีบตัว เกิดอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หัวใจล้มเหลว จังหวะการเต้นผิดปกติ จนถึงช๊อคและเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้
อาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน
อาการเจ็บหน้าอกที่สงสัยว่าเกิดจากโรคดังกล่าว คือ ลักษณะเจ็บแบบเค้นอกต่อเนื่องนานกว่า 15 นาที อาจร้าวไปที่แขน ที่กราม เกิดขึ้นครั้งแรกหรือเจ็บรุนแรงกว่าเดิมถ้าเคยเป็นมาก่อน บางรายมีอาการอื่นแทน เช่น จุกแน่นท้อง หอบเหนื่อย เหงื่อออก ใจสั่น โดยเฉพาะเมื่อเกิดในกลุ่มที่วินิจฉัยให้ถูกต้องได้ยาก เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายุ สตรี เป็นต้น
ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้
การเตรียมพร้อมรับมือภาวะนี้แต่เนิ่น ๆเป็นสิ่งจำเป็น ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่เป็นอยู่เดิม
ผู้ป่วยเบาหวานในผู้ใหญ่
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังขั้นสูง
ผู้ที่ตรวจสุขภาพ และพบมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจใน 10 ปีข้างหน้า
เมื่อเกิดเจ็บหน้าอกต้องทำอย่างไร
ผู้ที่เข้าข่ายดังกล่าวและผู้ดูแลควรมีความรู้เบื้องต้นใน 4 หัวข้อ คือ
ภัยร้ายของโรคและความเร่งด่วนในการรักษา
อย่างไรเรียกว่า เจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง
เรียกใช้บริการนี้ทันที เพียงแค่สงสัยอาการข้างต้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าอมยาใต้ลิ้น (ถ้ามี) ทุเลาหรือไม่ และไม่ควรรอจนรุ่งเข้าเมื่อเกิดในยามวิกาล
สำหรับบุคคลทั่วไป หากสงสัยในอาการเจ็บหน้าอกฉุกเฉิน ก็ไม่ควรรีรอ สามารถใช้ 1669 ได้เช่นกัน
ทำไมต้องใช้ 1669
บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) เป็นบริการรับแจ้งด้วยหมายเลข 1669 ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่ายในทุกสิทธิการรักษา เพื่อรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วประเทศด้วยรถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต ประสานผ่านศูนย์รับแจ้งเหตุไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลเบื้องต้นยังสถานที่รับแจ้ง รวดเร็วปลอดภัยกว่าการเดินทางด้วยตนเองที่อาจล่าช้าและขาดระบบการขอปรึกษา เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยไปรับการรักษาเปิดหลอดเลือดที่อุดตันตามข้อบ่งชี้ได้ทันเวลา ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือหัวใจล้มเหลวก่อนถึงโรงพยาบาลนั่นเอง
อย่าลืมบอกต่อกันนะครับ..’เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน เรียกใช้ 1669 ในตอนต่อไปจะย้อนไปเรียนรู้กันตั้งแต่ต้นว่าหัวใจทำงานอย่างไร ก่อนที่จะป่วยและมาพบแพทย์ในเวลาต่อมา
ผลงานโดย
น.พ.จิตติ โฆษิตชัยวัฒน์ FRCP (T), MFRCP (T)
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโรคหัวใจ