โรคหัวใจ

ผลข้างเคียงหรือแพ้ยากันแน่ ?

     เมื่อหมอสั่งยาให้ผู้ป่วยไปรับประทานที่บ้าน หากรู้สึกไม่สบายไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ กฎเหล็กก็คือ ปรึกษาแพทย์ผู้จ่ายยาตัวนั้นด่วน เพราะแพทย์ผู้ให้ยาเท่านั้นที่จะให้คำแนะนำได้ดีที่สุด เพราะการหยุดยาโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้เป็นผลเสียถึงชีวิต หรือการทนกินยาต่อไปก็เช่นเดียวกัน อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน ก่อนอื่นมารู้จักคำว่า แพ้ยา และ ผลข้างเคียงของยาเสียก่อน

แพ้ยา หมายถึง ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านต่อสารอย่างใดอย่างหนึ่งที่อยู่ในตัวยานั้น อาการเริ่มแรกคือมีผื่นคันตามตัว ต่อมาจะมีตาบวม ปากบวม รู้สึกหายใจมีเสียงหืดหอบ หายใจลำบาก ลิ้นจุกปาก พูดไม่ชัด เพราะอวัยวะบริเวณในลำคอบวม อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหนึ่งถึงสองชั่วโมงแรกหลังรับประทานยาลงไป หรือเกิดขึ้นทันทีหลังได้รับยาฉีด ระดับการแพ้มีหลายระดับ อาจเป็นตั้งแต่รุนแรง ที่เรียกว่า อะนาไฟเลคซีส (Anaphylaxis) ที่เห็นเป็นข่าวหนังสือพิมพ์อยู่ประจำ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตหลังฉีดยาที่ทำให้เกิดการแพ้ทันที ภาวะนี้เป็นภาวะที่ควบคุมไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าผู้ป่วยรายใดจะเกิดอาการแบบนี้ขึ้น ถึงแม้ว่าอุบัติการณ์ของภาวะนี้ต่ำมากๆ แต่คงไม่มีใครอยากให้มันเกิดกับเรา ครอบครัวเราหรือคนไข้เราอย่างแน่นอน ภาวะนี้ถ้ารักษาทันผู้ป่วยจะรอดชีวิต และไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร แต่ถ้าล่าช้าก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ถึงแก่ชีวิตได้ คำแนะนำที่ควรทราบในการป้องกันการเกิดอาการ จากการแพ้ยามีดังนี้ 

ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ว่า แพ้ยาอะไรอยู่บ้างทุกๆครั้งที่แพทย์จะสั่งยาตัวใหม่ให้ เพื่อแพทย์จะได้ ไม่สั่งยาในกลุ่มเดียวกันกับที่เคยแพ้ให้

  • ผู้ป่วยควรจดบันทึกส่วนตัวไว้ทุกครั้ง ถ้ารับประทานยาแล้วเกิดอาการข้างเคียง
  • ถ้าผู้ป่วยรับประทานยาแล้วเกิดผื่นคัน ให้รีบโทรแจ้งแพทย์ทันที เพื่อแพทย์จะได้ประเมินอาการและ ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที

 

ผลข้างเคียงของยา (ไม่ใช่แพ้ยา)  ยาโรคหัวใจเกือบทุกชนิดมักมีผลข้างเคียง ภาวะนี้ไม่ใช่แพ้ยา แต่เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยาที่ได้ ภาวะนี้จะพบบ่อยกว่าการแพ้ยา ยกตัวอย่างเช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางตัวทำให้ใจสั่นเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ ท้องผูก เท้าบวมชนิดกดบุ๋ม ยารักษาโรคหัวใจบางอย่างทำให้ ไอแห้งๆ หรือ ยาต้านเกร็ดเลือด อาจทำให้แผลในกระเพาะกำเริบขึ้น ทำให้กรดยูริคในเลือดสูงขึ้น โรคเก๊าท์กำเริบ ยาขับปัสสาวะบางอย่างทำให้เต้านมโตแข็งในผู้ชาย ยาลดความดันบางอย่างทำให้นอนไม่หลับ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ยารักษาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจทำให้เป็น โรคไทรอยด์ทั้งเป็นพิษและต่ำ ยาลดโคเลสเตอรอลอาจทำให้ตับอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อลาย เป็นต้น 

     ยังมีผลข้างเคียงอีกมากมายที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ที่พบบ่อยคือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน แค่นี้ก็มากพอที่จะไม่อยากทนกินยาอีกต่อไปแล้ว ถ้าคุณกินยาแล้วมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นก็ควรจะแจ้งแพทย์ให้ทราบโดยละเอียด เพราะแพทย์จะรู้ว่ายาตัวไหนที่คุณกินอยู่ออกฤทธิ์อย่างไร มีผลข้างเคียงอย่างไร ควรจะแก้ไขอย่างไร ผู้ป่วยบางท่านทานยารักษาความดันแล้วอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฝันร้าย นอนไม่หลับมีปัญหาครอบครัวแต่เกรง ใจหมอ ไม่กล้าบอกเลยตัดสินใจหยุดกินยาความดันเอง และหันหลังให้แก่โรงพยาบาลตลอดไป กลับมาเจอกันอีกทีก็ตอนเส้นเลือดในสมองแตกแล้ว ที่จริงแล้วแค่บอกความจริงแก่แพทย์ก็สามารถเปลี่ยนยาเป็นยาตัวอื่นได้ อันว่าผลข้างเคียงของยานี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดกับทุกคน ผู้ป่วยบางคนรับยาแบบเดียวกัน แต่ไม่มีผลข้างเคียงของยาแบบนั้นก็มี เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาเป็นรายๆไป 

     พูดถึงอาการข้างเคียงอีกแบบหนึ่งคือ อาการที่เป็นฤทธิ์ของยาโดยตรง เช่น กินยาลดความดันแล้วทำให้ลุกขึ้นแล้วหน้ามืด อันนี้อาจไม่เรียกว่าอาการข้างเคียง เพราะเป็นฤทธิ์โดยตรงของยาตัวนั้น วัตถุประสงค์เพื่อลดความดัน แต่อาจเป็นเพราะผู้ป่วยอยู่กับความดันโลหิตสูงๆมานานมาก หลอดเลือดในสมองปรับตัวให้เข้ากับความดันโลหิตสูงนั้นไปแล้ว ทำให้เวลาลดความดันอาจลดลงเร็วเกินไป ทำให้สมองผู้ป่วยปรับตัวไม่ทัน การแก้ไขปัญหานี้คือจะต้องให้ยาอย่างช้าๆ ใช้ยาขนาดต่ำแล้วค่อยๆปรับเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกไม่ดีว่าตอนแรกความดันโลหิตสูงไม่เห็นจะรู้สึกอะไร แต่พอลดความดันลงรู้สึกไม่สบาย ทำให้ปฏิเสธการกินยา อันนี้อยากจะทำความเข้าใจให้ผู้ป่วยทราบว่า การมีความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้ควบคุมหรือควบคุมไม่ได้เหมือนมีระเบิดเวลาที่ซ่อนเงียบอยู่ในตัว รอวันระเบิด เพราะฉะนั้นยังไงก็ควรจะหาวิธีควบคุมความดันนี้ให้ได้ อาจจะช้าหน่อย แต่ในที่สุดเราก็จะควบคุมมันได้

โดยสรุปแล้ว การกินยาก็เพื่อหวังผลรักษา ผลอันไม่พึงประสงค์อาจเกิดขึ้นได้ การแพ้ยาเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ยากเพราะเราบอกไม่ได้ว่ามันจะเกิดขึ้นกับใคร แต่เราทำให้บรรเทาความรุนแรงได้และถ้าให้การรักษาได้รวดเร็วผู้ป่วยจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนเลย ส่วนอาการข้างเคียงของยาในปัจจุบันเกิดขึ้นน้อยลง ยารุ่นใหม่จะมีประสิทธิภาพดี และผลข้างเคียงน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะความรู้ทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ขอเพียงท่านแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบถึงปัญหาของท่าน ทุกอย่างก็จะมีทางแก้

 

 

    สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย

    ในพระบรมราชูปถัมภ์

    ที่อยู่ : ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี

    ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กทม. 10310

    E-mail : [email protected]

 

090191
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All_Days
325
579
1394
4551
11155
60799
90191

Your IP: 172.70.100.98
2024-04-23 08:47
  • สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ ขอส่งความห่วงใยผ่าน น้องขวัญใจ น้องพอใจ และน้องสุขใจ ขอให้ทุกคนรอดพ้นจาก COVID-19