โรคหัวใจ

มารู้จักค่าความดันโลหิต และการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องกันเถอะ

     โรคความดันโลหิตสูง (hypertension) เป็นโรคที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งการเสียชีวิต ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ และมักตรวจพบจากการตรวจเช็คสุขภาพ หรือตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อเข้ารับการรักษาโรคอื่น ทั้งนี้โดยทั่วไป บุคคลมักจะมีความคุ้นเคยกับโรคความดันโลหิตสูงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ตัวเอง หรืออาจมีคนใกล้ตัวเป็นโรคนี้ นำไปสู่ความเครียด ความกังวลเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง ภาวะแทรกซ้อน รวมถึงการรักษาและการปฏิบัติตัว บางคนมีความสนใจในโรคความดันโลหิตสูงด้วยเหตุผลต่าง ๆ นำไปสู่การจัดหาเครื่องวัดความดันโลหิตมาใช้บ้าน เพื่อใช้ติดตามความดันโลหิตของตนเอง หรือบุคคลในครอบครัว ดังนั้นเราควรจะมีความรู้เบื้องต้นในการวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง เพื่อประโยชน์ในการดูแลตนเอง และลดความกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ก่อนอื่นเราควรมาทำความรู้จักค่าความดันโลหิต (blood pressure) กันก่อน ค่าความดันโลหิต ประกอบด้วยตัวเลข 2 ค่า มีหน่วยเป็น มิลลิเมตรปรอท 

ยกตัวอย่างเช่น ค่าความดันโลหิต 120/80 มิลลิเมตรปรอท 

  • ตัวเลข 120 คือค่าความดันโลหิตตัวบน หรือค่าความดันโลหิตในช่วงหัวใจบีบตัว หรือค่าความดันโลหิตในช่วงซีสโตลี (systolic blood pressure)
  • ตัวเลข 80 คือค่าความดันโลหิตตัวล่าง หรือค่าความดันโลหิตในช่วงหัวใจคลายตัว หรือค่าความดันโลหิตในช่วงไดแอสโตลี (diastolic blood pressure)

ก่อนที่จะวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง ควรให้ความสำคัญกับการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องก่อน เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการแปลผล หรือการวินิจฉัย โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

  1. เลือกใช้เครื่องมือในการวัดความดันโลหิตที่ได้มาตรฐาน ในปัจจุบันมีเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติหลายแบบ ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ค่าที่ได้จากการวัดโดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติ ส่วนใหญ่ประกอบด้วย 3 ค่า ได้แก่ 
    1. ค่าความดันโลหิตตัวบน
    2. ค่าความดันโลหิตตัวล่าง
    3. ค่าอัตราการเต้นของหัวใจ หรือชีพจร ใน 1 นาที
  2. การวัดความดันโลหิต ให้ทำในท่านั่ง หลังพิงพนักเก้าอี้ หลังจากได้พักแล้วอย่างน้อย 5 นาที 
  3. การวัดความดันโลหิต ให้วัดในห้องที่เงียบ 
  4. การวัดความดันโลหิต ให้วัดในขณะที่สภาพร่างกายและจิตใจอยู่ในภาวะปกติ ยกตัวอย่างเช่น ควรวัดความดันโลหิตในขณะที่ไม่เหนื่อย ไม่เครียด ไม่โกรธ ไม่อดนอน ไม่หิว ไม่ปวดศรีษะ ไม่ได้เพิ่งดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง หรือสารกระตุ้น เป็นต้น
  5. ควรวัดความดันโลหิตอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยห่างกัน 1-2 นาที
  6. ควรวัดความดันโลหิตในตอนเช้า หรือ ตอนเย็น

คำถามต่อมาคือ เราควรจะวัดความดันโลหิตบ่อยแค่ไหน เพื่อเป็นการคัดกรองโรคความดันโลหิต ให้พิจารณาตามค่าความดันโลหิตพื้นฐาน โดยมีคำแนะนำ ดังนี้

  • บุคคลที่สุขภาพแข็งแรง และที่มีความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท แนะนำให้ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยทุก 5 ปี 
  • บุคคลที่มีค่าความดันโลหิตอยู่ในช่วง 120-129/80-84 มิลลิเมตรปรอท แนะนำให้ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยทุก 3 ปี
  • บุคคลที่มีค่าความดันโลหิตค่อนข้างสูง กล่าวคือ อยู่ในช่วง 130-139/85-89 มิลลิเมตรปรอท แนะนำให้ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยทุกปี

 

 ผลงานโดย

พญ. นิธิมา รัตนสิทธิ์

 

    สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย

    ในพระบรมราชูปถัมภ์

    ที่อยู่ : ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี

    ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กทม. 10310

    E-mail : [email protected]

 

087132
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All_Days
294
544
2886
2446
8096
60799
87132

Your IP: 172.70.178.107
2024-04-18 11:42
  • สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ ขอส่งความห่วงใยผ่าน น้องขวัญใจ น้องพอใจ และน้องสุขใจ ขอให้ทุกคนรอดพ้นจาก COVID-19